พระมหาบัญญัติ The Great Commandment
Notes
Transcript
พระมหาบัญญัติ The Great Commandment
พระมหาบัญญัติ The Great Commandment
[Slide 1]
พระคัมภีร์ในบ่ายวันนี้ พระเยซู คริสต์ทรงอยู่ในสัปดาห์สุดท้าย หรือ สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ก่อนที่จะถูกจับกุมและตรึงกางเขน ในอีกไม่กี่วันถัดจากนี้ พระเยซู จะสิ้นพระชนม์ที่ไม้กางเขนเพื่อชำระความบาปผิดของเรา ในบทที่ 21 พระเยซู เสด็จเข้าสู่เยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต อย่างกษัตริย์ ฝูงชนต่างโห่ร้องสรรเสริญในการเสด็จมาของพระองค์ พระเยซูทรงชำระพระวิหาร ล้มโต๊ะรับแลกเงิน ในบทที่ 22 บรรดาเหล่านักการศาสนาต่างร่วมมือกันที่จะกำจัดพระองค์ แผนการแรกที่พวกเขาคิดกันคือ ต้องการให้พระเยซู ตกหลุมพราง ติดกับดักด้วยคำถามเชิงศาสนศาสตร์ ในข้อที่ 15-22 ฟารีสีทดสอบพระองค์เรื่องการจ่ายภาษีให้กับจักรพรรดิ์ซีซาร์ ในข้อที่ 23-33 เหล่าสะดูสีทดสอบพระองค์เรื่องการเป็นขึ้นจากความตาย
[Slide 2] และในข้อ 34-40 ฟารีสีได้ทดสอบพระองค์เกี่ยวกับ บัญญัติข้อที่ใหญ่และสำคัญที่สุด พระเยซู คริสต์สามารถตอบคำถามเหล่านี้ ด้วยสติปัญญาและไม่ตกหลุมพราง ติดกับดักที่บรรดานักการศาสนาวางไว้เลย ในมาระโก 12:34 บันทึกว่า “ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครกล้าถามพระองค์อีก” หลังจากที่นักการศาสนารู้ตัวว่าไม่สามารถทำให้พระองค์ตกหลุมพรางเกี่ยวกับคำถามต่างๆเหล่านี้แล้ว ต่างก็ร่วมมือกันวางแผนจะจับพระองค์ตรึงที่ไม้กางเขนเพื่อกำจัดพระองค์
พระมหาบัญญัติในพระคัมภีร์ตอนนี้จึงอยู่ในบริบทของการจับผิดและหาข้อที่จะกล่าวโทษพระเยซู คริสต์เกี่ยวกับคำสอนของพระองค์ ในข้อที่ 34 “เมื่อพวกฟาริสีได้ยินว่าพระองค์ทรงทำให้พวกสะดูสีนิ่งอั้นอยู่ จึงประชุมกัน” พวกสะดูสีถามคำถามพระเยซู เกี่ยวกับการฟื้นคืนชีพของคนที่ตายไปแล้ว และคำตอบของพระองค์ก็พิสูจน์ว่า พวกสะดูสีแท้จริงแล้วไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระคัมภีร์ และฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า ในเรื่อง การเป็นขึ้นจากความตาย แน่นอนว่า พวกฟาริสีต่างเห็นด้วยกับพระเยซู คริสต์ แต่ถึงแม้ว่าฟาริสีกับสะดูสีจะมีหลักข้อเชื่อที่ไม่ตรงกันในเรื่องนี้ พวกเขากลับมีสิ่งหนึ่งร่วมกัน คือ ต้องการกำจัดพระเยซู คริสต์ ในข้อที่ 35 จะเห็นว่า พวกเขาต่างร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่ง “มีผู้เชี่ยวชาญบัญญัติคนหนึ่งในพวกเขามาทดสอบพระองค์”
[Slide 3] ฟาริสี เป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญพระคัมภีร์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะโทราห์ หรือ พระคัมภีร์ห้าเล่มแรกของเรา พระคัมภีร์ห้าเล่มแรก มีชื่อว่าอะไรบ้างครับ ถูกต้องครับ ปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถี และ เฉลยธรรมบัญญัติ
โทราห์ถือเป็นธรรมบัญญัติ ที่เป็นคำสอนของพระเจ้า พระยาห์เวห์ ซึ่งเชื่อกันว่าถูกเขียนโดยโมเสส รับมาจากพระเจ้า ผ่านทางโมเสส ฟาริสีคนที่เข้ามาทดสอบพระเยซูคริสต์คนนี้ จัดได้ว่า เป็นมือหนึ่งเชี่ยวชาญบทบัญญัติ หรือถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็เป็นนักวิชาการด้านพันธสัญญาเดิมที่มีชื่อเสียง เขาเข้ามาถามพระองค์ด้วยท่าที ที่ไม่ถูกต้อง แต่ คำถามที่ถามนั้น เป็นคำถามที่ดีมากครับ
[Slide 4] “ท่านอาจารย์ ในธรรมบัญญัตินั้น พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด”
คำถามนี้ไม่ได้ถามเฉพาะบัญญัติสิบประการเท่านั้น แต่ถามถึงโทราห์ ซึ่งเป็นธรรมบัญญัติที่ชาวยิวต่างยึดถืออย่างเคร่งครัด พวกเขาสำรวจโทราห์อย่างละเอียด ตีความตามตัวอักษร และเขียนข้อบัญญัติจากโทราห์ ทั้งหมดนับรวมได้ 613 ข้อ เป็นข้อห้าม 365 ข้อ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำนวนวันในแต่ละปี และข้อต้องปฎิบัติ 248 ข้อ เป็นตัวแทนของจำนวนชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์ตามคติของยิว ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย 248 ชิ้นส่วน
ก็ยังไม่จบ พอมีหลายร้อยข้อ ปัญหาถัดมา พวกเขาต่างต้องถกกัน ต่ออีกว่า แล้วในบรรดาหลายร้อยข้อนี้ บัญญัติข้อใด สำคัญ หรือ ควรให้น้ำหนักมากกว่า บัญญัติข้ออื่นๆ นำมาสู่การถกเถียงกันว่า แล้วบัญญัติข้อใดสำคัญที่สุด บรรดารับไบที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับก็จะมีการตีความในส่วนนี้แตกต่างกันไป
พระเยซูทรงตำหนิ ท่าที ของการตีความของโทราห์แบบนี้ การพี่งพาความชอบธรรมของตนเอง เพราะฟารีสีพลาดน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ประทานโทราห์ให้กับอิสราเอล พระเจ้าทรงประทานโทราห์ให้กับอิสราเอลเพื่อที่เขาจะเข้าใจในความรัก พระคุณของพระเจ้าและดำเนินชีวิตให้สมกับการทรงเรียก ด้วยความรัก ใจที่ประกอบไปด้วยพระคุณ และ ความถ่อมใจ เป็นแสงสว่างให้กับบรรดาประชาติ นำประชาชาติทั้งหลายให้กลับมาหาพระเจ้า องค์เที่ยงแท้
พระเยซูทรงตำหนิฟาริสีต่อ ท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ในบทถัดมาคือ บทที่ 23 “เพราะพวกเขาเอาห่อของหนักวางบนบ่าของมนุษย์ แต่ส่วนพวกเขาเองไม่ยอมแม้แต่จะใช้สักนิ้วเดียวไปยก การกระทำของพวกเขาล้วนทำเพื่ออวดคนอื่น” แทนที่จะถือบัญญัติด้วยความรัก ความถ่อมใจ กลับกลายเป็นส่งเสริม อีโก้ ความเย่งหยิ่งของตนเอง และ ดูถูกดูแคลนผู้อื่น กลายเป็นคนหน้าซื่อใจคด
เราก็เป็นแบบฟารีสีในหลายครั้ง หลายครั้งความผิดของคนอื่น เรามองเห็นซะใหญ่โต แต่ ลืมมอง หรือปิดตา มองไม่เห็นความผิดของตนเอง ทั้งๆที่หลายครั้งก็เป็นความผิดแบบเดียวกัน เพราะเรามักจะมีข้อแก้ต่างให้กับตัวเราเองเสมอ แต่กับคนอื่น อย่าผิดพลาดให้เราเห็น หรือจับได้นะ บ่อยครั้งที่เราวิพากวิจารณ์ความผิดพลาดของผู้อื่น โดยปราศจากความรัก ผมอยากให้เราสำรวจท่าที ในใจเราทุกครั้ง เมื่อเรากำลังเริ่มต้นจะกล่าววิพากวิจารณ์ใคร ผมอยากให้เราทำด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ชอบธรรม ด้วยความรัก และ เมตตา แล้วสังคม ชุมชน จะเป็นสังคมและ ชุมชนที่น่าอยู่ เอเมนมั้ยครับ
ฟาริสีที่เชี่ยวชาญบัญญัติคนนี้ถามคำถามกับพระเยซู เพื่อที่จ้องจับผิดพระองค์เรื่องหลักคำสอน แต่เขาหารู้ไม่ว่าเขากำลังถามใครอยู่ พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นพระวาทะ พระวจนะ ผู้ที่รู้บัญญัติที่ดีที่สุด ในข้อที่ 37-40 พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงมีสิทธิอำนาจสูงสุดในการตีความโทราห์ ได้บอกกับเราว่า แท้จริงแล้ว ทั้งหมดของ โทราห์ คือ รักพระเจ้าและรักกันและกัน เหมือนอย่างที่อาจารย์เจอรี่ ผู้บุกเบิกคริสตจักรแองลิกัน ภาคภาษาไทย สรุปเป็นภาษาไทย ไว้ด้วยอย่างมีความหมายว่า “รักพระเจ้าสุดๆ รักเพื่อนบ้านจริงๆ”
“พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด?” คือ พระมหาบัญญัติรัก สอง ประการ
[Slide 5] ประการที่หนึ่ง
I จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน
ข้อ 37-38 พระเยซูทรงตอบเขาว่า “37จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน 38นั้นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก”
ในข้อที่หนึ่ง จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน เราเรียนรู้ได้อย่างน้อย สี่ประการ ด้วยกันครับ
[Slide 6] (1) เป็นคำสั่งและหน้าที่
เพราะว่า ใช้คำว่า “จง” ในข้อที่ 37 พระเยซูทรงตอบเขาว่า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” พระเยซูทรงตอบโดยอ้างอิงจาก บทอธิษฐานประจำวันของอิสราเอล หรือ Shema หนังสือ เฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 6 ข้อที่ 4-5 ซึ่งกล่าวว่า “4โอ คนอิสราเอล จงฟังเถิด พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา 5ท่านจงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิตสุดใจและสุดกำลังของท่าน”
Shema เป็นพื้นฐานหลักข้อเชื่อของยิว สำหรับยิวที่เคร่งครัดจะภาวนาบทนี้ วันละสองครั้ง เช้าและเย็น
พูดถึง sherma ในที่นี้ มีใครเข้าเฝ้า บอกรักพระเจ้าทุกวัน เช้า เย็น แบบคนยิวบ้างมั้ยครับ
นี้ก็เข้าสู่เดือน กุมภาพันธ์แล้ว ผ่านไปเร็วมาก ครับ ปีนี้ 2020 แปลบเดียว เข้าเดือนกุมภาพันธ์แล้ว
มีใครในนี้ ตั้งแต่ปีใหม่ เฝ้าเดี่ยว เข้าเฝ้าพระเจ้าทุกวัน ยังไม่ขาดเลย มีมั้ยครับ ยกมือให้ผมดูหน่อยครับ
สรรเสริญพระเจ้า เราต้องเลียนแบบสิ่งดีจากคนยิว ครับ Shema เข้าเฝ้าพระเจ้า เช้า เย็น เป็นการสร้างพื้นฐานชีวิตจิตวิญญาณของเรานะครับ เข้าเฝ้าพระเจ้าตอนเช้า ไตร่ตรองพระคำ และ สำรวจชีวิตของเราตลอดทั้งวัน ในตอนเย็นหรือก่อนนอน แล้วอธิษฐานกับพระเจ้า ทำเช่นนี้ให้เป็น นิสัย เป็นวินัยพื้นฐานในการเข้าเฝ้าพระเจ้าทุกวัน เอเมนมั้ยครับ
“4โอ คนอิสราเอล จงฟังเถิด พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา 5ท่านจงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิต สุดใจและ สุดกำลังของท่าน”
ในที่นี้ คำว่า “รัก” ภาษาฮีบรู ใช้ในความหมายถึง ความรักที่อยู่เหนืออารมณ์ ความรู้สึก เป็นความรัก ที่เป็น ความจงรักภักดี ใช้ในบริบทของสมัยโบราณ ในการทำสนธิสัญญา ระหว่างกัน ว่าฝ่ายหัวเมืองที่เป็นประเทศราช จะยอม รัก จงรักภักดี ต่อ กษัตริย์ของอาณาจักรอีกฝ่ายที่เป็นผู้ปกครอง
เรารัก จงรักภักดี ต่อพระเจ้า เพราะว่าเราเป็นประชากรของพระองค์ อยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า
[Slide 7] (2) พระองค์ทรงสมควร
บัญญัติรักพระเจ้านี้ ไม่ใช่รักพระเจ้าที่เป็นใครก็ได้ พระเจ้าที่เราไม่รู้จัก เหมือนอย่างที่คนไทยมักจะพูดว่า “และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก” แต่เป็นความรักที่มีต่อ พระเจ้าเฉพาะพระองค์นี้เท่านั้น พระเจ้าที่เรารู้จัก พระเจ้าทรงเปิดเผยชื่อของพระองค์ ต่อโมเสส เขียนเป็นอักษรฮีบรูเรียงกันสี่ตัว คือ YHWH ซึ่งจริงๆแล้วไม่สามารถออกเสียงได้ เมื่อมีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาอังกฤษ คริสเตียนก็ใส่ตัวสระเข้าไป เพื่อให้ออกเสียงได้ เป็น เยโฮวาห์ หรือ ยาห์เวห์ พระเจ้าพระองค์นี้ มีชื่อเรียกเฉพาะ เป็นพระนามส่วนพระองค์
[Slide 8] รักพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงสมควร ด้วยเหตุผล สองประการครับ ประการที่หนึ่ง เพราะว่า พระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้าง ทรงเนรมิตสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ทรงปกครองอยู่เหนือจักรวาล บนสวรรค์และแผ่นดินโลก ไม่มีสิ่งใดอยู่นอกเหนือการปกครองและการควบคุมของพระองค์ และ พระองค์ทรง สมควรที่จะได้รับความรักและจงรักภักดี เพราะทุกสิ่งที่เรามี ที่เราเป็นนั้นล้วนมาจากพระองค์
อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ทางเป็นพระเจ้าผู้กระทำพันธสัญญา นอกจากเป็นพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้สร้างแล้ว ยังทรงมีความสัมพันธ์กับเราผ่านทางพันธสัญญา พระองค์ไม่ใช่เป็นเพียง พระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ อยู่ไกลแสนไกล อยู่ในที่สูงสุด แต่ทรงเสด็จมาหาเรา ทรงเป็นพระเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ พระองค์ยังทรงเป็นพระเจ้าของเราด้วย ในอพยพ 20 ก่อนที่พระองค์จะประทานบัญญัติสิบประการ ทรงตรัสก่อนว่า “เราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า ผู้ได้นำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์คือจากแดนทาส”
พระองค์ทรงสมควรได้รับความรัก ความจงรักภักดี เพราะว่า พระองค์ทรงช่วยกู้อิสราเอลจากการตกเป็นทาสในอียิปต์
พระองค์ทรงสมควรได้รับความรัก ความจงรักภักดี จากเรา เพราะว่า พระองค์ทรงปลดปล่อยเราจากความบาป ความพินาศ ให้เราได้รับความรอดในองค์พระเยซู คริสต์
พระองค์ทรงสมควรได้รับ ความรัก ความจงรักภักดี เพราะว่า พระองค์ทรงช่วยเราให้พ้นจากภาระหนี้สิน ทรงช่วยเราให้พ้นจาก ความทุกข์ใจ และประทานสันติสุขให้กับเรา เพราะว่า ทรงช่วยเราให้ชีวิตนี้มีความหมาย และคุณค่า ทรงนำการคืนดีมาสู่ครอบครัวของเรา ทรงปลดปล่อยเราจากพันธนาการของ ยาเสพติด ทรงรักษาเยียวยาเราจากบาดแผลทางใจในอดีต ทรงประทานความหวังในชีวิตให้กับเรา
“ท่านจงรักพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน” พระเจ้าพระองค์นี้ทรงสมควรต่อความรัก ความจงรักภักดี
[Slide 9] (3) รักพระองค์ด้วยทั้งหมดที่เป็นตัวเรา ของเรา
ในข้อ 37 “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” เป็นการรัก พระองค์ ด้วยทั้งหมดที่เราเป็น ความจริงแล้ว มี คำหลัก หรือ keyword ในที่นี้ ย้ำ ซ้ำๆอยู่ สามครั้ง สำหรับ คนยิว การย้ำ ด้วยคำซ้ำๆ สามครั้ง มีความหมายถึง สำคัญมาก ยิ่งใหญ่มาก หรือ สุดๆ จริงๆ เช่น ในสดุดี พระธรรมอิสยาห์ หรือในหนังสือภาวนา แองลิกัน “บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ บริสุทธิ์” เป็นต้น keyword ในตอนนี้ คือ คำว่า “ด้วยสุด” สามครั้ง หมายทั้ง ทั้งหมด คือ ด้วยสุดใจ ด้วยสุดจิต และ ด้วยสุดความคิด หมายถึง รักพระเจ้า ด้วย ทั้งหมด ที่เป็นตัวเรา ของเรา นั้นเอง
ความรัก จงรักภักดีในพระเจ้า จึงเป็นแบบองค์รวมในชีวิตของเรา ไม่มีการแยกส่วน ไม่ใช่ว่า เราบอกว่ารักพระเจ้า แต่เราไม่ยอมถวายให้กับพระเจ้า รักพระเจ้า แต่เงินในกระเป๋าเป็นของผมไม่เกี่ยว
หรือ รักพระเจ้าแต่ ไม่ยอมมอบ อุทิศ เวลา ความรู้ความสามารถให้กับพระเจ้า แท้จริงแล้ว พระเจ้าทรงเรียกร้อง ความรัก จงรักภักดี จาก ทั้งหมดที่เรามี และ จากทั้งหมดที่เราเป็น เพราะว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ และ ผู้ประทานทั้งหมดที่เราเป็น ทั้งหมดที่เรามี อย่างแท้จริง
ความรักพระเจ้าอย่างไม่มีการแยกส่วน จึงหมายถึง เรารักพระเจ้า จงรักภักดีต่อพระเจ้า ในทุกบริบทในชีวิตของเรา ไม่ว่า เราจะอยู่ที่ไหน หรืออยู่ในบทบาทใดก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ที่คริสตจักรในวันอาทิตย์ อยู่ที่บ้าน อยู่กับคนในครอบครัว กับลูกๆของเรา กับ หัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนๆในที่ทำงาน ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้ในเวลาที่เราอยู่คนเดียว เราก็รักและจงรักภักดีกับพระเจ้า ไม่ทำบาป ยำเกรงพระเจ้า แม้ว่าจะไม่มีใครมองเห็น หรือรับรู้ก็ตาม
เราไม่มีชีวิตแบบสองด้าน สองหน้า เพราะว่า รักพระองค์ด้วยทั้งหมดที่เป็นตัวเรา ของเรา
[Slide 10] (4) รักพระองค์ โดยให้พระเจ้าเป็นที่หนึ่งในชีวิตของเรา
ในข้อ 38 พระเยซู กล่าวว่า “นั้นแหละ เป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก” พระเยซู ทรงให้ความสำคัญของการรักพระเจ้า เป็นบัญญัติสูงสุด สำคัญที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นอันดับแรก ซึ่งหมายถึงว่า เราต้องให้ลำดับความสำคัญ ความรัก จงรักภักดีต่อพระเจ้า เป็นลำดับที่หนึ่งในชีวิตของเรา
บัญญัติรักพระเจ้านี้ หมายถึงว่า ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่า รัก จงรักภักดี พระเจ้าเป็นที่หนึ่งในชีวิตของเรา
เราจึงไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือให้ตัวเองมาก่อน แต่ให้ความรัก พระเจ้าเป็นศูนย์กลางในชีวิตของเรา
เราจึงยอมจำนนต่อพระเจ้า เมื่อใดก็ตามที่เรา โมโห โกรธ หรือเกลียด เพื่อนของเรา เราจึง ให้พระเจ้ามาก่อน ด้วยการอธิษฐานฝากทั้งหมดไว้กับพระเจ้า และสามารถให้อภัย เพื่อนที่ทำผิดกับเราได้ ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่ยอมจำนน ต่อความรักพระเจ้าในชีวิตของเรา
รักพระเจ้าเป็นลำดับความสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา จึงแสดงออก โดยเราตั้งใจมานมัสการพระเจ้าทุกวันอาทิตย์ มาอย่างตั้งใจ ไม่มาสาย ตั้งใจ มาเป็นพระพรให้กับสมาชิก พี่น้องด้วยกัน
รักพระเจ้าเป็นลำดับความสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา จึงหมายถึง การที่เราไม่ยอมตกอยู่ในความบาปอีกต่อไปแต่ต้องการทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อพระเจ้า ทำในสิ่งที่ชอบพระทัยพระเจ้า บ่ายวันนี้มีความบาปใดที่เราเก็บไว้ ผมอยากหนุนใจ ให้เรารักพระเจ้า ให้พระองค์เป็นหนึ่งในชีวิตของเรา โดยการตั้งใจ ละทิ้งความบาปนั้น ทูลขอกำลัง และ พระคุณจากพระเจ้าช่วยให้เราตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่พระเจ้าพอพระทัย เพื่อพระเจ้าจะได้เป็นหนึ่งในชีวิตของเราอย่างแท้จริง
สี่ประการครับ ในบัญญัติรักพระเจ้า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน นั้นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก”
(1) เป็นคำสั่งและหน้าที่ ความรักพระเจ้า ที่อยู่เหนืออารมณ์ ความรู้สึก รักที่สามารถก้าวข้ามอารมณ์ ความรู้สึกของเรา รัก จงรักภักดี (2) รัก เพราะ พระองค์ทรงสมควร – พระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่ทุกสิ่งที่เรามีล้วนมาจากพระองค์ และ สิ่งดีจากพันธสัญญาที่พระองค์ทรงกระทำในชีวิตของเรา ช่วยให้เรารอดพ้นจากความพินาศ ได้รับความรอดในพระคริสต์ (3) รักพระองค์ด้วยทั้งหมดที่เป็นตัวเรา ของเรา สามสุด สุดใจ สุดจิต และสุดความคิด รักพระเจ้าอย่างไม่แยกส่วน ไม่ว่าจะเป็น เวลา ความรู้ ความสามารถ และทรัพย์สินเงินทอง (4) รักพระเจ้าโดยให้พระเจ้าเป็นที่หนึ่งในชีวิตของเรา ไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่ให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางในชีวิตของเรา ละทิ้งบาป ตัดสินใจทำในสิ่งที่พระเจ้าพอพระทัยโดยพึ่งพากำลังที่มาจากพระองค์ อาเมนมั้ยครับ
[Slide 11] II จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
ฟาริสีที่เชี่ยวชาญบัญญัติทดสอบพระเยซูโดยถามถึงบัญญัติที่สำคัญที่สุดในโทราห์ และพระเยซู ทรงสอบผ่านในคำถามนี้ เพราะว่าไม่มีผู้ใดสามารถโต้แย้งได้ ด้วยบัญญัติรักพระเจ้า หรือ Shema ที่พวกยิวต่างเข้าใจเป็นอย่างดี แต่พระองค์ไม่หยุดแค่นั้น ทรงตอบคำถามนี้ โดยขยายเพิ่มเติมอีก ในข้อ 39-40 “39ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง 40ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” เป็นข้อความที่อ้างอิงมาจาก เลวีนิติ บทที่ 19:18 ซึ่งกล่าวว่า “...จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง เราคือยาห์เวห์”
บัญญัติรักข้อที่สองนี้ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” สอนเราเกี่ยวกับความจริงของพระมหาบัญญัติ สามประการ
ประการที่หนึ่ง
[Slide 12] (1) พระมหาบัญญัติ ประกอบไปด้วยบัญญัติสองส่วนที่สำคัญ ซึ่งแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ เป็นเหมือนกับ เหรียญสองด้านที่ต้องไปด้วยกัน
ในข้อที่ 39 พระเยซูตรัสว่า “39ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง...” บัญญัติข้อที่สองจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง จะเหมือนกันกับ บัญญัติแรก ให้รักพระเจ้าได้อย่างไร? บัญญัติสองส่วนนี้ ความจริงเป็นเหมือนกับเหรียญสองด้าน ที่ขาดจากกันไม่ได้
“ความรักที่มีต่อพระเจ้า ทำให้ให้เรามีความรักต่อเพื่อนบ้านของเราได้”
ความรักต่อพระเจ้า ทำให้เราสามารถรักคนอื่นๆได้
เราไม่สามารถรักพระเจ้า แต่ในขณะเดียวกัน เกลียดชังคนอื่นๆได้
[Slide 13] 1 ยอห์น 4:20 กล่าวว่า “ถ้าใครกล่าวว่า ข้าพเจ้ารักพระเจ้า แต่ใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน เขาเป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่มองเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่มองไม่เห็นไม่ได้”
“ความรักพระเจ้านำมาซึ่งความรักเพื่อนบ้านของเรา” มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างความรักพระเจ้า และ รักเพื่อนบ้าน รักพระเจ้าก่อน แล้วจึง รักเพื่อนบ้าน ตามลำดับ
เราไม่สามารถรักเพื่อนบ้าน โดยปราศจากความรักพระเจ้า
แน่นอน มีหลายครั้งที่เราสามารถรักและห่วงใย ทุ่มเทให้กับคนอื่นได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เราจะสามารถรักเขาได้แบบนั้น
ความรัก ในที่นี้ที่พระคัมภีร์กล่าวถึงคือ ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ความรักแบบ อากาเป้ เป็นความรักที่อุทิศตน เสียสละ รักแม้กระทั่งศัตรู ผู้ที่ทำร้ายพระองค์ แบบเดียวกับ ความรักของพระเจ้าที่ทรงส่งพระบุตรของพระองค์ลงมาในโลกนี้เพื่อตายไถ่โทษบาปแทนเรา ทุกคน ที่ไม้กางเขน
เราจึงไม่สามารถรักเพื่อนบ้านอย่างไม่มีเงื่อนไขได้ ถ้าเราไม่รักพระเจ้า
เพราะว่าความรักที่เรามีต่อเพื่อนบ้าน จะเจือปนไปด้วยความบาปและมลทิน เพราะเป็นความรักที่ไม่ได้ไหลเอ่อล้นออกมาจากความรักพระเจ้าในใจของเรา
[Slide 14] ประการที่สอง
(2) รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง คือ มาตรฐานความรักสากล รักเพื่อนมนุษย์ทุกคน
ข้อ 39 กล่าวว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” สำหรับคนยิวแล้ว นิยามเพื่อนบ้านของพวกเขาใน เลวีนิติ 19:18 ก็ ตีกรอบ เฉพาะ เพื่อนบ้านที่เป็นยิวด้วยกัน แต่ ความจริงแล้ว ถ้าเราอ่านต่อไปอีก ใน เลวีนิติ 19:33-34 กล่าวว่า “33เมื่อคนต่างด้าวอาศัยอยู่กับเจ้าในแผ่นดินของพวกเจ้า ห้ามข่มเหงเขา 34คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับพวกเจ้านั้นก็เป็นเหมือนกับคนท้องถิ่นของเจ้า จงรักเขาเหมือนกับรักตนเอง เพราะว่าพวกเจ้าเคยเป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์ เราคือยาห์เวห์ พระเจ้าของเจ้า”
เพื่อนบ้านของเรา จึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกับเรา ไม่จำเป็นต้องมีภูมิหลังชีวิตคล้ายกับเรา ไม่จำเป็นต้องจบโรงเรียนเดียวกัน หรือมหาวิทยาลัยเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ มี เคมีที่ตรงกัน หรือคุยถูกคอ มีอะไรที่ชอบเหมือนๆกัน
พระเจ้า ทรงรักเราก่อน ในขณะที่เราเป็นคนแปลกหน้ากับพระองค์ ทำให้ เราสามารถที่จะรักคนแปลกหน้า เหมือนกับเพื่อนบ้านของเราได้
ใน ลูกา 10:25-29 เมื่อผู้เชี่ยวชาญบัญญัติทดสอบพระเยซู ว่า จะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์? พระเยซูตรัสถามเขากลับ เกี่ยวกับความเข้าใจในบทบัญญัติว่าเขาเข้าใจอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ตอบได้อย่างถูกต้อง จากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:5 และ เลวีนิติ 19:18 พระเยซูจึงตอบเขาว่า จงไปทำอย่างนั้นแล้วจะได้ชีวิต แต่เขาไม่จบแค่นั้น เพื่อที่จะต้องการคำตอบที่ตรงกับใจของเขา เขาจึงถามต่อว่า ใครคือเพื่อนบ้านของเขา? เขาต้องการให้พระเยซูบอกว่าเพื่อนบ้านคือคนยิวด้วยกัน คนที่เขาเห็นด้วยและพร้อมที่จะผูกพัน รักใคร่ แต่พระเยซูกลับตอบเขาด้วย คำอุปมา ชาวสะมาเรียใจดี ในลูกา 10:25-37
เพื่อนบ้านของเรา ไม่ใช่คนที่เหมือนกับเรา ไม่ใช่คนที่เรามองเห็นสะท้อนผ่านกระจกเงา แต่เพื่อนบ้านของเราคือใครก็ได้ทุกคน คือ คนต่างๆที่เราเห็นเมื่อเรามองออกไปนอกหน้าต่างของเรา
พระคัมภีร์ตอนนี้กำลังสอนเราว่า เราต่างเป็นเพื่อนบ้านของกันและกัน คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่เราสามารถยื่นมือให้ความช่วยเหลือคือ เพื่อนบ้านของเรา บัญญัติข้อนี้สั่งให้เรารักคนเหล่านั้นที่เป็นเพื่อนบ้านของเรา
ความจริงพระเยซูทรงสอนในมัทธิว บทที่ 5 ด้วยนะครับ ว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ข่มเหงพวกท่าน ดังนั้น ผมจึงรักและอธิษฐานเผื่อ ภรรยาของผม (ขำมั้ย) และผมว่าหลายครั้ง คุณพ่อคุณแม่ที่นี่ก็คงอยากจะรักและอธิษฐานเผื่อลูกๆของเราด้วยเช่นกัน
ประการที่สามครับ
[Slide 15] (3) รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง คือ ความรักแบบเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว
เมื่อพระเยซู ตรัสว่า จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง สามารถตีความของคำว่า “เหมือน” ได้สองแนวทางครับ คำว่าเหมือน ขยายคำ กิริยา รัก กับ แนวทางที่สอง คำว่าเหมือน ขยายคำนาม ตนเอง กับ เพื่อนบ้าน หมายความว่าไงครับ
แนวที่หนึ่งครับ
คำว่า “เหมือน” ขยายความคำกิริยา “รัก” หมายความว่า เรารักตัวเราเองอย่างไร ก็ให้เรารักเพื่อนบ้าน แบบนั้น เหมือนกับสิ่งที่พระเยซู ตรัสสอน ใน มัทธิว 7:12 “จงปฎิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวกท่านต้องการให้พวกเขาปฎิบัติต่อท่าน เพราะนี่คือธรรมบัญญัติและคำสั่งสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะ”
ส่วนใหญ่ โลกนี้ สอนว่า อย่าปฎิบัติไม่ดีต่อผู้อื่น ถ้าเราไม่ต้องการให้เขาปฎิบัติแบบนั้นต่อเรา แค่นี้ก็ดีแล้ว สำหรับมาตรฐานของคนทั่วๆไป แต่ พระเยซู คริสต์สอน ให้เราก้าวไปต่ออีกขั้น มาตรฐานของพระเจ้า คือให้ เรา ปฎิบัติต่อผู้อื่นเหมือนอย่างที่เราต้องการให้คนอื่นปฎิบัติกับเรา เป็นรักแบบ เชิงรุก ไม่ใช่แบบตั้งรับ
รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ของพระเยซู คริสต์ ต้องสำแดงออกเป็นการกระทำ
ในบันทึกความทรงจำ ของนักเขียน หญิงคนหนึ่ง ในตอนที่เธอยังเป็นเด็ก เธออยู่กับแม่ ที่พึ่งหย่ากับสามี แม่ของเธอรวบรวมเงินที่เหลืออยู่ทั้งหมด ย้ายไปอยู่ต่างเมือง หลังจากย้ายมาอยู่เมืองใหม่แล้ว ก็ใช่เงินที่มีอยู่เกือบทั้งหมด เช่าบ้านหลังหนึ่ง และเงินที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ซื้อมันฝรั่งมาทำอาหารให้ลูกสาวของเธอรับประทานประทังชีวิต ไม่กี่วันต่อมา มันฝรั่งก็หมด สายตาของแม่ มองผ่านหน้าต่างไปที่สวนที่ปลูกมะเขือเทศของเพื่อนบ้าน แม่ก็พูดกับลูกสาวที่ยังเล็กอยู่ว่า แม่ไม่ใช่ขโมย แม่จะไม่มีวันขโมยมะเขือเทศในสวน พูดเสร็จแล้ว เธอก็เดินไปในระแวกบ้านเช่าของเธอ ไปหยุดอยู่ที่บ้านหลังที่ใหญ่ที่สุด ที่อยู่สุดทางจากบ้านเช่าของเธอ เธอเดินเข้าไปเคาะประตู คู่สามีภรรยาตายาย ออกมาเปิดประตู คู่สามีภรรยา ตายาย กำลังอธิษฐาน ขอบคุณพระเจ้าสำหรับอาหารมื้อเย็นที่อยู่บนโต๊ะ แม่คนนั้นกล่าวว่า ได้โปรดให้อาหารกับลูกสาวของฉันด้วย เราไม่มีอาหารเหลืออีกแล้ว และพึ่งย้ายมา ยังหางานทำไม่ได้ ตายายคู่นั้น ไม่พูดอะไร ตักอาหารทั้งหมดที่อยู่ที่โต๊ะ แพ็คอย่างดี แล้วมอบให้กับแม่และลูกไป จากนั้น วันรุ่งขึ้น ตายาย เข้าไปในเมือง พอดีเพื่อนเขาเป็นเจ้าของร้านอาหาร จึงฝากงานให้แม่ของเธอทำงานที่ร้านอาหารในเมือง จนแม่ของเธอสามารถตั้งหลักได้ ในที่สุด ได้ตั้งต้นชีวิตใหม่ที่เมืองนั้น ลูกของเธอได้ไปโรงเรียน
ตายายคู่นี้ ได้แสดงความรัก แบบที่พระเจ้าทรงพอพระทัย “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” เขาให้อาหารที่อยู่บนโต๊ะทั้งหมด ที่มีให้กับแม่คนนั้น เขาไม่ได้ให้เศษอาหาร หรือ อาหารเหลือ กับแม่ลูกคู่นั้น
เราดูแลตัวเองอย่างไร ก็ให้เราดูแลเพื่อนบ้านเราอย่างนั้น นั้นคือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
เวลาคริสตจักร ประกาศที่จะนำของที่เหลือใช้มาบริจาค หรือ ให้กับคนอื่น หลายต่อหลายครั้ง กิจกรรมนี้คือการนำของที่เราต้องการจะกำจัดในบ้าน ในห้องของเรา ไปให้ บางชิ้นอยู่ในสภาพที่แทบใช้ไม่ได้แล้ว เป็นแบบ “How to ทิ้ง” บ่อยครั้ง ก็เป็นภาระคริสตจักรต้องนำไปทิ้งแทนเรา รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองคือ ถ้าเราต้องการใช้ของสภาพแบบไหน เราก็ควรจะให้ของสภาพที่ ถ้าเราอยากจะได้รับด้วย เรามีความยินดีที่จะรับของชิ้นนั้น ไม่ใช่ของที่หมดสภาพ ใช้งานไม่ได้แล้ว
เราจึงต้องมีท่าทีที่ถูกต้องในการบริจาค หรือเวลาเราให้สิ่งของกับผู้อื่น หรือ โดยเฉพาะสิ่งของที่เราต้องการถวายให้พระเจ้า ให้กับคริสตจักร
**** (เทศนาที่ลาดกระบัง skip ได้)*****
ที่ไคร้สเชิช กรุงเทพฯ สาทร ***** มีพันธกิจรักเพื่อนบ้าน
พันธกิจรักเพื่อนบ้าน บ้านชาเล็ม เป็นตัวอย่างที่ดี ของ การรักเพื่อนบ้าน เหมือนรักตนเอง ทุกวันพุธสิ้นเดือน สมาชิกคริสตจักรมีส่วนในการเข้าไปหนุนใจ ญาติๆ และคนที่เจ็บป่วย เดินทาง มาจากต่างจังหวัด เพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ สมาชิกร่วมมือร่วมใจกัน ทำอาหารดูแลเพื่อนบ้านเหล่านั้น หนุนใจ และอธิษฐานเผื่อ
****************************************************
อีกแง่มุมหนึ่ง ของ รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง คำว่า “เหมือน” ใช่สำหรับขยายคำนาม ระหว่างเพื่อนบ้านกับตนเอง หมายความว่า แท้จริงแล้ว เราก็คือ เพื่อนบ้าน ของเรา พระคัมภีร์หลายต่อหลายตอน ได้เปรียบเทียบว่า เราคือ ชุมชน และ ชุมชนก็คือเรา เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หลายต่อหลายครั้งเราเห็นตัวเราเอง ในเพื่อนบ้านของเรา การแสดงออกถึงความรักต่อเพื่อนบ้านของเรา ก็เหมือนกับการที่เรารักตัวของเราเอง
สัปดาห์ที่แล้ว ผมเห็น เห็นญาติที่พาแม่ที่ป่วยเป็นโรคทางสมอง ออกมารับมหาสนิท ผมเห็นตัวของผมเอง ในญาติ ที่ก็ต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคชราเกี่ยวกับสมองเช่นกัน
เมื่อ ผม เห็นคนที่ดิ้นรน ไขว้ขว้า หาชื่อเสียง การยอมรับ ทรัพย์สินเงินทอง ผมก็เห็นภาพสะท้อนของตัวเราเอง ที่เราเป็นก่อนที่เราจะยอมจำนนกับพระเจ้า ในชีวิตของเรา
ผมเห็น คนป่วยเป็นมะเร็งวาระสุดท้าย รอความตาย ผมก็เห็นภาพของพ่อของผมที่เคยเป็นเช่นนั้น
เราแต่ละคนแท้จริงแล้ว จึงเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน เราเห็นตัวเรา ใน เพื่อนบ้านของเรา เราคือเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านคือเรา ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านของเรา ไม่ช้าหรือเร็ว ไม่ทางตรง หรือทางอ้อม สิ่งนั้นจะกลับมามีผลกระทบกับเราอย่างแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เหมือนอย่าง โรคโคโรน่าไวรัสที่กำลังระบาดในจีน เพื่อนบ้านของเรา ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะส่งผลกระทบกับเราคนไทยที่อยู่ที่นี่ และกับเพื่อนบ้านในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะทำคือ ให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และอธิษฐานเผื่อ เพื่อนบ้านที่เป็นคนจีนของเรา
พระเยซู จึงสอนให้เรา รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง การช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ตกทุกข์ยากลำบาก จึงเปรียบเสมือนว่า เรากำลังช่วยเหลือตัวเราเองอยู่ ผมอยากให้เราลองไปคิด ไตร่ตรองดูนะครับ เพราะถ้าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ ผมเชื่อเหลือเกินว่า สังคม ชุมชนที่เราอาศัยอยู่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง จึงหมายถึง ประการที่หนึ่ง รักพระเจ้าและรักเพื่อนบ้านต้องไปด้วยกัน เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน แยกจากกันไม่ได้
“ความรักที่มีต่อพระเจ้า ทำให้ให้เรามีความรักต่อเพื่อนบ้านของเราได้”
“ความรักพระเจ้านำมาซึ่งความรักเพื่อนบ้านของเรา”
เราไม่สามารถรักเพื่อนบ้านเราอย่างไม่มีเงื่อนไขได้ ถ้าเราไม่รักพระเจ้า
ประการที่สอง รักเพื่อนบ้านใน พระมหาบัญญัติ คือ ความรักสากล รักเพื่อนมนุษย์ทุกคน แม้แต่ศัตรูของเรา หรือคนที่แตกต่างจากเรา
ประการที่สาม รักแบบเสียสละไม่เห็นแก่ตัว รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง มีสองแง่มุม คือ มุมที่หนึ่งคือ รัก ดูแล และให้ เพื่อนบ้าน เหมือนอย่าง อย่างที่เรารัก ดูแล และ ให้ กับตัวเราเอง และมุมที่สองคือ เรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง เพราะ เราต่างเห็นภาพสะท้อนของกันและกัน เพราะเปรียบเสมือนว่า เราก็คือเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็คือตัวเรา เราจึงมีเมตตาต่อเพื่อนบ้านเหมือนกับที่เรามีเมตตาต่อตัวเราเอง
บทสรุป
พระเยซู ตรัสต่อไปในข้อ 40 ว่า “ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” คำว่า ขึ้นอยู่กับ ในนี้ให้ความหมายเหมือนกับ บานพับประตู พระคัมภีร์ทั้งหมด คือ ธรรมบัญญัติและ คำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมด แขวนไว้ ฟารีสีผู้เชี่ยวชาญบัญญัติถาม พระเยซู เฉพาะในโทราห์ แต่ในตอนท้ายพระองค์กลับสรุปว่า พระมหาบัญญัตินี้ แท้จริงแล้วคือสรุปของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม
[Slide 16] มัทธิว 5:17 พระเยซู ตรัสว่า “อย่าคิดว่าเรามาล้มเลิกธรรมบัญญัติและคำของบรรดาผู้เผยพระวจนะ เราไม่ได้มาล้มเลิกแต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ” คำว่าสมบูรณ์นี้ มีความหมายคือ มาทำให้สำเร็จ ครบถ้วน เสร็จสิ้น พระมหาบัญญัติ นี้พระเยซู คริสต์ทรงกระทำให้สำเร็จแล้วที่ไม้กางเขน
[Slide 17] ความรักพระเจ้า และ ความรักเพื่อนบ้าน ได้มาบรรจบกัน และ ได้สำแดงออก อย่างสมบูรณ์ผ่านทาง การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู คริสต์ที่ไม้กางเขน ไม่มีผู้ใดอีกแล้วที่จะรักพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ ยอมจำนน เชื่อฟังจงถึงความมรณา รัก และจงรักภักดีกับพระเจ้า เหมือนอย่างพระคริสต์ ไม่มีผู้ใดอีกแล้วที่จะรักเพื่อนบ้านได้อย่างสมบูรณ์ ยอมสละชีวิตของตนเพื่อเป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก แม้แต่เพื่อศัตรู ผู้ที่ทำร้ายพระองค์ได้เท่าพระคริสต์อีกแล้ว
ข่าวดีคือ พระคริสต์ทรงเป็นผู้ที่ทำให้พระมหาบัญญัตินี้สำเร็จ เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เราจึงรับเอาพระมหาบัญญัตินี้ โดยไม่พึ่งพากำลังของเรา เพราะว่าท้ายที่สุดเราจะล้มเหลว เหมือนอย่างนักการศาสนา และฟารีสี แต่ให้เราเข้ามาหาพระเยซู คริสต์ และพึ่งพาพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระผู้ไถ่ และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา
ให้เราร่วมใจกันอธิษฐานครับ
ผมอยากให้ที่ประชุมได้ก้มศรีษะ หลับตา อยู่ความเงียบสงบ ให้เราเอามือข้างที่เราถนัดมาวางไว้ที่กลางอกของเราครับ ผมอยากให้เราสัมผัสถึงความอบอุ่นในใจผ่านมือของเรา ให้เราสัมผัสถึงความรัก ความอบอุ่นของพระเจ้าในชีวิตของเรา ผมอยากให้เราสารภาพกับพระองค์ ที่หลายครั้งเราไม่ได้รักพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงสมควร
***************ช่วงตอบสนอง พระคำ *****************